โรคตาขี้เกียจคืออะไร โรคสายตาขี้เกียจ( Lazy eye หรือ Amblyopia) จะทำให้การมองเห็นภาพคมชัดลดลง ซึ่งเป็นผลจากความผิดปกติของการพัฒนาการของการมองเห็นในทารก หรือช่วงวัยเด็ก สายตาขี้เกียจเกิดจากการขนส่งสัญญาณรับภาพระหว่างตาและสมองทำงานไม่เต็มที่ ทำให้สมองรับภาพจากตาเพียงข้างใดข้างหนึ่งมากกว่าอีกข้าง หรือสมองเพิกเฉยต่อการรับภาพของตาข้างที่ด้อยกว่า ทำให้การมองเห็นตาข้างนั้นลดลง สายตาขี้เกียจมักเกิดในเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 6-7 ปี หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันเวลา จะทำให้ตามัว การมองเห็นลดลงอย่างถาวร
โรคตาบอดสี (Color Blindness) ผู้ที่เป็นโรคตาบอดสี (Color Blindness) จะเกิดปัญหาในการแยกแยะสีของวัตถุบางอย่าง ทั้งนี้ บางคนมักเข้าใจผิดว่าผู้ที่เป็นโรคตาบอดสีจะไม่สามารถรับรู้สีใดๆได้เลยซึ่งแท้จริงแล้วผู้ที่มีภาวะตาบอดสีอย่างรุนแรงจนกระทั่งเห็นภาพต่าง ๆ เป็นเพียงสีขาวดำนั้นสามารถพบได้น้อยมาก ๆ ส่วนมากแล้วคนที่ตาบอดสีจะรับรู้สีได้ แต่สามารถแยกสีมีความคล้ายกันได้น้อย อย่างไรก็ตาม คนที่ตาบอดสีที่สามารถบอกสีได้ถูกต้อง เช่น ตาบอดสีแดง จะสามารถบอกชื่อสีแดงได้ถูกต้อง ซึ่งในความเป็นจริง มองเห็นสีแดงแตกต่างไปจากคนปกติ เพราะได้รับการสอนให้เรียกสีที่เค้ามองเห็นจากวัตถุนั้นๆ ว่า นี่คือสีแดง จึงมักจะบอกสีได้ถูกต้อง ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายทั้งต่อตนเองและผู้อื่นได้หากประกอบอาชีพในบางอาชีพที่ต้องใช้สีในการบอกสัญลักษณ์
สายตาสั้นเทียมคืออะไร สายตาสั้นเทียม เกิดจากการหดตัวผิดปกติของกล้ามเนื้อเล็กๆ ในลูกตา โดยปกติเมื่อเรามองดูของที่อยู่ใกล้ กล้ามเนื้อเล็กๆ ในตาจะหดตัวเพื่อให้เลนส์ตาโป่งออก ทำให้สภาพตาในขณะนี้เสมือนเป็นคนสายตาสั้น เราจึงมองเห็นของที่อยู่ใกล้ชัดขึ้น แต่พอเราเลิกมองใกล้ กล้ามเนื้อเหล่านี้ก็จะคลายตัวโดยอัตโนมัติ ทำให้เราเห็นของที่ไกลชัดขึ้น ซึ่งปกติกล้ามเนื้อส่วนนี้ จะหดและคลายตัวสลับกันไปมาตลอด แต่หากเราใช้สายตาเพ่งดูจอมือถือหรือคอมพิวเตอร์นานเกินไป ก็จะทำให้การหดตัวของกล้ามเนื้อเล็กๆ ในตามีความผิดปกติได้คือ กล้ามเนื้อในตาไม่คลายตัวแม้ไม่ได้มองใกล้แล้ว เพราะกล้ามเนื้อหดตัวเกือบตลอดเวลาทำให้มีอาการเสมือนอยู่ในสภาพสายตาสั้น มองไม่ชัด แต่เมื่อใส่แว่นสายตาสั้น กลับมองชัดขึ้น