ความรู้โรคตา

โรคตาขี้เกียจคืออะไร โรคสายตาขี้เกียจ( Lazy eye หรือ Amblyopia) จะทำให้การมองเห็นภาพคมชัดลดลง ซึ่งเป็นผลจากความผิดปกติของการพัฒนาการของการมองเห็นในทารก หรือช่วงวัยเด็ก สายตาขี้เกียจเกิดจากการขนส่งสัญญาณรับภาพระหว่างตาและสมองทำงานไม่เต็มที่ ทำให้สมองรับภาพจากตาเพียงข้างใดข้างหนึ่งมากกว่าอีกข้าง หรือสมองเพิกเฉยต่อการรับภาพของตาข้างที่ด้อยกว่า ทำให้การมองเห็นตาข้างนั้นลดลง สายตาขี้เกียจมักเกิดในเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 6-7 ปี หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันเวลา จะทำให้ตามัว การมองเห็นลดลงอย่างถาวร

โรคตาบอดสี (Color Blindness) ผู้ที่เป็นโรคตาบอดสี (Color Blindness) จะเกิดปัญหาในการแยกแยะสีของวัตถุบางอย่าง ทั้งนี้ บางคนมักเข้าใจผิดว่าผู้ที่เป็นโรคตาบอดสีจะไม่สามารถรับรู้สีใดๆได้เลยซึ่งแท้จริงแล้วผู้ที่มีภาวะตาบอดสีอย่างรุนแรงจนกระทั่งเห็นภาพต่าง ๆ เป็นเพียงสีขาวดำนั้นสามารถพบได้น้อยมาก ๆ ส่วนมากแล้วคนที่ตาบอดสีจะรับรู้สีได้ แต่สามารถแยกสีมีความคล้ายกันได้น้อย อย่างไรก็ตาม คนที่ตาบอดสีที่สามารถบอกสีได้ถูกต้อง เช่น ตาบอดสีแดง จะสามารถบอกชื่อสีแดงได้ถูกต้อง ซึ่งในความเป็นจริง มองเห็นสีแดงแตกต่างไปจากคนปกติ เพราะได้รับการสอนให้เรียกสีที่เค้ามองเห็นจากวัตถุนั้นๆ ว่า นี่คือสีแดง จึงมักจะบอกสีได้ถูกต้อง ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายทั้งต่อตนเองและผู้อื่นได้หากประกอบอาชีพในบางอาชีพที่ต้องใช้สีในการบอกสัญลักษณ์

สายตาสั้นเทียมคืออะไร สายตาสั้นเทียม เกิดจากการหดตัวผิดปกติของกล้ามเนื้อเล็กๆ ในลูกตา โดยปกติเมื่อเรามองดูของที่อยู่ใกล้ กล้ามเนื้อเล็กๆ ในตาจะหดตัวเพื่อให้เลนส์ตาโป่งออก ทำให้สภาพตาในขณะนี้เสมือนเป็นคนสายตาสั้น เราจึงมองเห็นของที่อยู่ใกล้ชัดขึ้น แต่พอเราเลิกมองใกล้ กล้ามเนื้อเหล่านี้ก็จะคลายตัวโดยอัตโนมัติ ทำให้เราเห็นของที่ไกลชัดขึ้น ซึ่งปกติกล้ามเนื้อส่วนนี้ จะหดและคลายตัวสลับกันไปมาตลอด แต่หากเราใช้สายตาเพ่งดูจอมือถือหรือคอมพิวเตอร์นานเกินไป ก็จะทำให้การหดตัวของกล้ามเนื้อเล็กๆ ในตามีความผิดปกติได้คือ กล้ามเนื้อในตาไม่คลายตัวแม้ไม่ได้มองใกล้แล้ว เพราะกล้ามเนื้อหดตัวเกือบตลอดเวลาทำให้มีอาการเสมือนอยู่ในสภาพสายตาสั้น มองไม่ชัด แต่เมื่อใส่แว่นสายตาสั้น กลับมองชัดขึ้น

ต้อลม (Pinguecula) เป็นโรคที่เกิดจากการถูกลมโกรกตาเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งลมในที่นี้จะหอบเอาฝุ่นละออง ไอความร้อน และรังสีอัลตราไวโอเลตติดมากระทบตาด้วย เมื่อเกิดติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ ก็จะเป็นผลทำให้เนื้อเยื่อที่ถูกกระทบเป็นก้อนนูนขึ้นมาบนเยื่อตาขาวใกล้ ๆ กับขอบตาดำ วันดีคืนดีก็อาจเกิดการอักเสบได้ และหากไม่ได้รับการป้องกันอย่างถูกต้องอาจมีการลุกลามขยายขนาดใหญ่ขึ้นกลายเป็นแผ่นเนื้อยื่นเข้ามาในบริเวณตาดำได้ เรียกว่า “ต้อเนื้อ” โรคนี้แม้จะไม่หายขาด แต่ก็ไม่มีอันตรายร้ายแรงอะไร จึงเบาใจได้ต้อลมเป็นโรคที่พบได้บ่อยจนเกือบจะเรียกว่าเป็นโรคประจำตาของคนที่ค่อนข้างมีอายุ และแทบจะไม่พบโรคนี้เลยในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปี

ต้อเนื้อ หรือ ต้อลิ้นหมา (Pterygium) คือ โรคตาที่เกิดจากเยื่อบุตาที่เกิดการเสื่อมและหนาตัวขึ้นงอกไปบนกระจกตา (ตาดำ) ซึ่งมักพบบริเวณหัวตามากกว่าหางตา และจะค่อย ๆ โตลุกลามอย่างช้า ๆ เข้าไปในตาดำ ถ้าเป็นมากจะลามเข้าไปจนถึงกลางตาดำและปิดรูม่านตา ซึ่งจะปิดบังการมองเห็นทำให้ตามัวได้ ต้อเนื้อเป็นโรคที่พบได้มากในประเทศเขตร้อนที่ค่อนข้างแห้งแล้ง กันดาร และมีฝุ่นลมจัด (ประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลายนั่นแหละค่ะ ส่วนประเทศที่มีอากาศหนาวจะไม่ค่อยพบคนเป็นโรคนี้) โรคนี้จึงเป็นโรคที่พบได้บ่อยมากโรคหนึ่งในบ้านเราแทบทุกภาคของประเทศ แต่จะพบเป็นกันมากที่สุดในภาคอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดบุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ฯลฯ เป็นต้น มักพบหรือเกิดกับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป และจะพบได้มากในผู้ที่มีอายุระหว่าง 30-55 ปี (ยังไม่ค่อยพบโรคนี้ในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี คือ พบได้เหมือนกันแต่น้อยมาก และยังไม่พบโรคนี้เลยในเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี) ส่วนอัตราการเกิดโรคนี้ในผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเกิดได้พอ ๆ กัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อประสบการณ์การใช้บริการเว็บไซต์ที่ดีที่สุดของท่าน นอกจากนี้ท่านสามารถศึกษารายละเอียดและวิธีการตั้งค่าการควบคุมคุกกี้ของเราได้ ที่นี่ นโยบายความเป็นส่วนตัว นโยบายคุกกี้