990 จำนวนผู้เข้าชม |
สายตาเอียง (Astigmatism) เป็นปัญหาสายตาที่เกิดจากกระจกตาหรือเลนส์ตามีความโค้งไม่เท่ากันหรือมีรูปร่างผิดไปจากปกติ ทำให้มองเห็นเป็นภาพเบลอ หรือเห็นภาพผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง ทั้งในระยะใกล้และระยะไกล ทำให้เกิดผลข้างเคียงอย่างอาการปวดหัว ปวดตา หรือตาล้าหลังจากใช้สายตาเป็นเวลานาน เช่น การอ่านหนังสือ หรือการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ โดยสายตาเอียงสามารถเกิดขึ้นได้ร่วมกับปัญหาสายตาสั้นหรือสายตายาว
อาการของสายตาเอียง
ผู้ป่วยสายตาเอียงหากเป็นน้อยจะมีอาการทางสายตาที่ปรากฏน้อยมาก โดยอาการแสดงที่พบจะชัดเจนขึ้นตามระดับความรุนแรงของสายตาเอียง พบว่ามีอาการดังนี้
- มองเห็นเป็นภาพเบลอ
- เห็นภาพผิดเพี้ยน หรือผิดรูปผิดร่างจากความเป็นจริง
- ปวดตา ตาล้า
- ปวดหัว
- มองเห็นภาพไม่ชัด ทัศนวิสัยในการมองเห็นไม่ดีในตอนกลางคืน
- หากมีอาการรุนแรง ผู้ป่วยสายตาเอียงจะมองเห็นภาพซ้อน
สาเหตุของสายตาเอียง
กระจกตาและเลนส์ตาของคนจะมีรูปร่างโค้งมนเป็นทรงกลม เมื่อแสงตกกระทบบนจอประสาทตาจะเกิดเป็นภาพที่ทำให้คนเรามองเห็น แต่สายตาเอียงเกิดจากกระจกตามีความโค้งไม่สม่ำเสมอกัน หรือกระจกตามีรูปร่างผิดไปจากปกติ เช่น โค้งเป็นทรงรี หรือรูปไข่ ทั้งในแนวตั้ง แนวนอน หรือแนวเฉียง ทำให้มองเห็นภาพไม่ชัดหรือผิดเพี้ยนไปจากความจริง เนื่องจากตำแหน่งการตกกระทบของแสงเปลี่ยนไป โดยสามารถเกิดขึ้นร่วมกับปัญหาสายตาสั้นและสายตาเอียงได้
สายตาเอียงส่วนใหญ่มักเป็นแต่กำเนิด หรืออาจเกิดจากปัจจัยอื่น เช่น
- ตาเหล่
- ได้รับบาดเจ็บบริเวณดวงตาจากการอักเสบหรือติดเชื้อที่สร้างรอยแผลเป็นให้กระจกตา
- ได้รับบาดเจ็บบริเวณดวงตาจากการผ่าตัดดวงตา
- กระจกตามีรูปร่างผิดปกติ
โดยสายตาเอียงมี 2 ชนิด คือ
สายตาเอียงแบบสม่ำเสมอ เกิดจากกระจกตาหรือเลนส์ตามีความโค้งไม่สม่ำเสมอกัน หรือมีรูปร่างผิดไปจากปกติ เช่น โค้งเป็นวงรี หรือรูปไข่ ทั้งในแนวตั้ง แนวนอน หรือแนวเฉียงเพียงทิศทางเดียว ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้ทั่วไป และเป็นกรณีที่พบได้มากกว่าสายตาเอียงแบบไม่สม่ำเสมอ สามารถรักษาได้ด้วยการสวมใส่แว่นสายตา คอนแทคเลนส์ หรือการผ่าตัดรักษากระจกตา
สายตาเอียงแบบไม่สม่ำเสมอ เกิดจากกระจกตาหรือเลนส์ตามีความโค้งไม่สม่ำเสมอกัน หรือมีรูปร่างผิดไปจากปกติ เช่น โค้งเป็นวงรี หรือรูปไข่ ทั้งในแนวตั้ง แนวนอน หรือแนวเฉียงในหลายทิศทาง มักเกิดจากการประสบอุบัติเหตุกระทบกระเทือนดวงตา และไม่สามารถรักษาได้ด้วยการสวมแว่นสายตา แต่สามารถใส่คอนแทคเลนส์ หรือผ่าตัดรักษากระจกตาได้
การวินิจฉัยสายตาเอียง
สายตาเอียงสามารถตรวจวินิจฉัยเพื่อวางแผนรักษาแก้ไขต่อไปอย่างเหมาะสมได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- การวัดระดับการมองเห็น (Visual Acuity Test) เป็นการวัดความสามารถในการมองเห็นด้วยการให้ผู้ป่วยอ่านตัวเลขหรือตัวอักษรบนแผนภูมิสเนลเลน (Snellen Chart) ซึ่งตัวอักษรจะมีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ ในแถวถัดลงมา
- การวัดค่าความโค้งของกระจกตา (Keratometer Test) แพทย์จะใช้เครื่องเคอราโตมิเตอร์ (Keratometer) ส่องไฟไปที่กระจกตา เครื่องจะวัดระดับความโค้งของกระจกตาจากแสงสะท้อนที่ตกกระทบบริเวณกระจกตา
ทุกคนควรตรวจวัดสายตาเป็นระยะตามความเหมาะสมกับวัย ซึ่งโดยปกติ เด็กในวัยเริ่มเข้าโรงเรียนและเด็กในวัยเรียนควรตรวจวัดสายตาทุก ๆ 2 ปี หลังจากนั้น ผู้ที่ไม่มีสัญญาณอาการของปัญหาสายตา ควรเข้ารับการตรวจวัดสายตา ดังนี้
- ผู้ที่มีอายุ 19-40 ปี ควรตรวจวัดสายตาทุก ๆ 10 ปี
- ผู้ที่มีอายุ 41-55 ปี ควรตรวจวัดสายตาทุก ๆ 5 ปี
- ผู้ที่มีอายุ 56-65 ปี ควรตรวจวัดสายตาทุก ๆ 2 ปี
- ผู้ที่มีอายุ 65 ปี ขึ้นไป ควรตรวจวัดสายตา ปีละครั้ง
ส่วนผู้ที่มีอาการบ่งชี้ใดที่ปรากฏและทำให้เกิดปัญหาในการมองเห็น หรือมีทัศนวิสัยในการมองเห็นที่เปลี่ยนไปจนกระทบต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย หรือไปตรวจวัดสายตาอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์
การรักษาสายตาเอียง
โดยทั่วไป สายตาเอียงมักไม่ปรากฏอาการที่รุนแรงจนต้องทำการรักษา แต่หากมีอาการสำคัญที่ต้องทำการรักษาเพื่อแก้ปัญหาการมองเห็น วิธีการรักษาและแก้ปัญหาสายตาเอียง สามารถทำได้โดยการสวมแว่นตาและใส่คอนแทคเลนส์ และการผ่าตัดในกรณีที่สายตามีปัญหาอย่างรุนแรง
การสวมแว่นตา แว่นตาจะช่วยแก้ปัญหาการมองเห็นได้ในขณะที่สวมใส่ เป็นวิธีที่ปลอดภัยและไม่มีการสัมผัสกับบริเวณดวงตา ด้วยการตัดแว่นสายตาที่ประกอบไปด้วยเลนส์ที่ช่วยปรับการหักเหของแสงให้ตกกระทบบนจอตา ทำให้มองเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น
การใส่คอนแทคเลนส์ คอนแทคเลนส์เป็นแผ่นเลนส์ใสที่ใส่บริเวณดวงตา ผู้ป่วยสามารถสวมใส่ได้ด้วยตนเองและถอดออกเมื่อไม่ต้องการใช้งาน โดยคอนแทคเลนส์จะช่วยปรับการหักเหของแสงให้ตกกระทบบนจอตา ทำให้มองเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นเช่นเดียวกับการสวมแว่นตา แต่จะมีให้เลือกหลายรูปแบบ เช่น เลนส์สัมผัสชนิดอ่อนแบบใช้แล้วทิ้ง เลนส์ชนิดที่ไม่ต้องถอดทุกวัน เลนส์ชนิดแข็งที่ยอมให้ก๊าซออกซิเจนซึมผ่านไปยังกระจกตาได้ และเลนส์ 2 ชั้นที่ทำให้ผู้ใส่มองเห็นได้ 2 ระยะ คือ ใกล้กับไกล
ส่วนวิธีการใส่คอนแทคเลนส์เพื่อปรับความโค้งของกระจกตาชั่วคราว มีชื่อว่า Orthokeratology ผู้ป่วยต้องสวมคอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง (Orthokeratology Lens) เป็นเวลาหลายชั่วโมงต่อวันแล้วถอดออก โดยผู้ป่วยจะสามารถใช้สายตาหลังจากปรับความโค้งกระจกตาแล้ว ซึ่งจะส่งผลให้เห็นภาพชัดขึ้น หากผู้ป่วยไม่ใส่คอนแทคเลนส์ชนิดนี้อย่างต่อเนื่อง ความโค้งของกระจกตาก็จะกลับไปมีลักษณะดังเดิม และกลับไปมีสายตาการมองเห็นดังเช่นก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม การใส่คอนแทคเลนส์อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ๆ โดยไม่ถอดออกล้างทำความสะอาดตามสมควรของเลนส์แต่ละประเภท จะเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อบริเวณดวงตา ดังนั้น หากผู้ป่วยต้องการรักษาแก้ไขปัญหาสายตาด้วยการใส่คอนแทคเลนส์ จึงต้องมีความระมัดระวัง และใส่ใจปฏิบัติตามคำแนะนำ
การป้องกันการเกิดสายตาเอียง
สายตาเอียงเกิดจากรูปร่างและความโค้งของเลนส์กระจกตาที่ผิดปกติ จึงไม่มีวิธีการที่ชัดเจนในการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานี้ขึ้น แต่สามารถทำได้โดยการดูแลรักษาดวงตา ป้องกันไม่ให้ได้ดวงตารับความกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุต่าาง ๆ และใช้สายตาอย่างเหมาะสม เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของเลนส์กระจกตา ของจักษุแพทย์เสมอ
การผ่าตัด เป็นวิธีการรักษาที่ช่วยทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องใช้แว่นสายตาและคอนแทคเลนส์อีกต่อไป หรือลดความจำเป็นในการใช้แว่นสายตาและคอนแทคเลนส์ลงไป โดยแพทย์จะต้องทำการผ่าตัดปรับเปลี่ยนรูปร่างและความโค้งของกระจกตา เพื่อให้แสงตกกระทบบนจอตาและทำให้ผู้ป่วยสามารถมองเห็นภาพต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจนขึ้น
โดยวิธีการผ่าตัดแก้ไขสายตาที่ใช้รักษาสายตาเอียง ได้แก่
- เลสิก (Laser-Assisted In Situ Keratomileusis: LASIK) แพทย์จะผ่าตัดนำเนื้อเยื่อในเลนส์กระจกตาออกมา แล้วใช้เลเซอร์ปรับแต่งให้ได้รูปร่างและส่วนโค้งที่เหมาะสม แล้วใส่กลับเข้าไปในตำแหน่งเดิม
- เลเสก (Laser-Assisted Subepithelial Keratectomy: LASEK) เลเสกต่างจากการทำเลสิกตรงที่แพทย์จะใช้แอลกอฮอล์ชนิดพิเศษลอกเนื้อเยื่อกระจกตาชั้นนอกออกมา จากนั้นจึงใช้เลเซอร์ปรับแต่งให้ได้รูปร่างและส่วนโค้งที่เหมาะสม แล้วใส่กลับเข้าไปในตำแหน่งเดิม
- พีอาร์เค (Photorefractive Keratectomy: PRK) เป็นวิธีที่มีขั้นตอนคล้ายกับการทำเลเสก แต่แพทย์จะทำการผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อกระจกตาออกไป เพื่อให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นเจริญเติบโตขึ้นมาใหม่และเกิดเป็นรูปร่างใหม่ โดยหลังผ่าตัด ผู้ป่วยอาจต้องใส่คอนแทคเลนส์ชนิดพิเศษที่มีออกซิเจนผ่านสูงเป็นเวลา 2-3 วัน
- อีพิเลสิก (Epi-LASIK) เป็นการผ่าตัดชนิดหนึ่งที่คล้ายกับเลเสก แต่แพทย์จะใช้มีดผ่าตัดแทนการใช้แอลกอฮอล์ชนิดพิเศษในการผ่านำเนื้อเยื่อกระจกตาออกมาเป็นแผ่นบาง ๆ และปรับแต่งรูปร่างด้วยเลเซอร์ก่อนใส่กลับเข้าไปในตำแหน่งเดิม
แม้วิธีรักษาสายตาเอียงด้วยการผ่าตัดจะเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยไม่ต้องใช้แว่นสายตาและคอนแทคเลนส์อีกต่อไป หรือลดความจำเป็นในการใช้แว่นสายตาและคอนแทคเลนส์ลงไป แต่วิธีการนี้ก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น มีค่าสายตาน้อยกว่าหรือมากกว่าแต่เดิมก่อนการรักษา ตาแห้ง มองเห็นแสงเป็นวงหรือกระจายเป็นแฉก เกิดรอยแผลเป็นบนกระจกตา ตาติดเชื้อ หรืออาจสูญเสียการมองเห็นได้ซึ่งเป็นกรณีที่พบได้น้อยมาก ฉะนั้น หากต้องการักษาปัญหาสายตาเอียงด้วยการผ่าตัด ผู้ป่วยต้องปรึกษาแพทย์ถึงขั้นตอน วิธีการ ข้อดี ข้อเสีย และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นให้ดีก่อนตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัด
ภาวะแทรกซ้อนของสายตาเอียง
หากประสบกับปัญหาสายตาเอียงเพียงข้างเดียว มีแนวโน้มที่ผู้ป่วยจะเผชิญกับภาวะตาขี้เกียจ (Lazy Eye หรือ Amblyopia) ซึ่งจะทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจน เนื่องจากตาทั้ง 2 ข้างมีการมองเห็นที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง